วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

10. การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ระบุว่า เป็นหลักสูตรการศึกษาที่สนองการกระจายอำนาจให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับสภาพความต้องการของท้องถิ่น ความเป็นท้องถิ่น  ชุมชนของไทยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว การจัดการศึกษาจัดให้ทุกคนอนุรักษ์ทรัพยากรในท้องถิ่น และพัฒนาจะนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าได้ ปัจจุบันนี้กระแสโลกกำลังให้ความสำคัญกับความเป็นชุมชนท้องถิ่น สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น จะเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องปลูกฝังพัฒนาให้เยาชนเกิดสำนึกรักท้องถิ่น ภูมิภาค และประเทศของตน ดังนั้น การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับความเป็นชุมชนและท้องถิ่น
ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เน้นของกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาเยาวชนสู่ศตวรรษที่ 21 การบริหารจัดการหลักสูตรในยุคปัจจุบันมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและสถานศึกษา ให้มีส่วนร่วมคิด  ร่วมตัดสินใจในการพัฒนาหลักสูตรของตนเอง  กรอบสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นจึงถือเป็นตัวจักรสำคัญในการตอบสนองนโยบาย พระราชบัญญัติทางการศึกษา กฎหมายและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา
กรมวิชาการ (2545) กล่าวว่า หลักสูตรท้องถิ่น หมายถึง มวลประสบการณ์ที่จัดขึ้นทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความสามารถ ทักษะ เจตคติ และคุณภาพการดำรงชีวิต โดยพยายามใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้บนพื้นฐานของสภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ของตนเอง ตลอดจนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ของชาติบ้านเมือง

ประกอบ  มณีโรจน์ (2554) ได้กล่าวถึงสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น ดังนี้ สำหรับสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น ที่กำหนดประเด็นสำคัญเพื่อให้โรงเรียนนำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้ในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ เช่น ภูมิศาสตร์, ประวัติศาสตร์, อาชีพ, บุคคลสำคัญ, สภาพปัญหาในชุมชน, วิถีชีวิต, สถานที่สำคัญ, แนวโน้มในอนาคตของการเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่น แนวทางการจัดทำหลักสูตรระดับชั้นเรียนเกี่ยวกับสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นอาจทำได้หลายแนวทาง  เช่น จัดทำเป็นรายวิชาเพิ่มเติม, จัดการเรียนรู้ สาระการเรียนรู้ท้องถิ่นในรายวิชาพื้นฐาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น