วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

9. ขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา การวิเคราะห์หลักสูตรมาตรฐานหลักสูตร ตัวชี้วัด สาระการเรียนรู้ (ต่อ)

 การสร้างหลักสูตรสถานศึกษา
            หลักสูตรสถานศึกษาจะต้องสนองตอบการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและสิ่งแวดล้อมการศึกษาจะเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น ถ้ามีการปรับปรุงหลักสูตรตลอดเวลา สถานศึกษาจึงควรดำเนินการในการจัดทำหลักสูตร ดังนี้
            1. กำหนดวิสัยทัศน์
            สถานศึกษาจำเป็นต้องกำหนดวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องโลกและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สถานศึกษาจะต้องมีการปรับตัว ปรับหลักสูตรเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เหมาะสมกับยุคสมัย การกำหนดวิสัยทัศน์ของสถานศึกษาจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์และความร่วมมือของชุมชน ผู้ปกครอง ครูผู้สอน ผู้เรียน ภาครัฐและเอกชนในการแสดงความคิดเห็น สถานศึกษาพัฒนาผู้เรียนที่มีพันธกิจ ร่วมกันกำหนดงานหลักที่สำคัญของสถานศึกษา พร้อมด้วยเป้าหมาย มาตรฐาน แผนกลยุทธ์ แผนปฏิบัติการและการติดตามผล ตลอดจนจัดทำรายงานแจ้งสาธารณชน และส่ง ผลย้อนกลับ ให้สถานศึกษาเพื่อปฏิบัติงานที่เหมาะสมและได้มาตรฐานสอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของชาติ
             2. การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา
            จากวิสัยทัศน์ เป้าหมาย และมาตรฐานการเรียนรู้ที่สถานศึกษาได้กำหนดไว้ สถานศึกษาจะต้องจัดทำสาระการเรียนรู้ จากช่วงชั้นให้เป็นรายปีหรือรายภาค พร้อมกำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังไว้ให้ชัดเจน  เพื่อให้ครูนำไปออกแบบการเรียนการสอน หลักสูตรดังกล่าวจะเป็นหลักสูตรสถานศึกษาที่ครอบคลุมภาระงานการจัดการศึกษาทุกด้านของสถานศึกษา
            3. การกำหนดสาระการเรียนรู้ และผลการเรียนรู้ที่คาดหวังรายปีหรือรายภาค
            สถานศึกษาวิเคราะห์มาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้นของกลุ่มสาระต่าง ๆ จากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกำหนดสาระการเรียนรู้และผลการเรียนรู้เป็นรายปีหรือรายภาคให้สอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ตามเป้าหมายและวิสัยทัศน์ของสถานศึกษาด้วย พิจารณาวิธีการจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล และการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น แหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น และสามารถกำหนดในลักษณะผสมผสานบูรณาการได้
            4. การออกแบบการเรียนการสอน
ครูผู้สอนทุกคนเป็นผู้ออกแบบการเรียนการสอน โดยคาดหวังว่าผู้เรียนสามารถทำอะไรได้ในแต่ละช่วงชั้น  การออกแบบการเรียนรู้จะต้องให้ผู้เรียนพัฒนาได้ทั้งด้านความรู้ ความคิด ทักษะ และเจตคติที่ดีต่อคณิตศาสตร์และสังคม
                แนวทางการจัดการเรียนรู้ด้วยตนเอง
                ทฤษฏี Constructivist เชื่อว่าการเรียนรู้เป็นผลของการผลิตหรือสร้างสรรค์ทางปัญญา ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จากการสร้างความต่อเนื่องระหว่างข้อมูลสารสนเทศใหม่กับความรู้เดิม เน้นความสำคัญของผู้เรียนในฐานะผู้ที่จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับวัตถุหรือปรากฏการณ์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อสิ่งเหล่านั้น ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความคิดรอบยอดและแนวทางแก้ปัญหาชองตนเอง กลุ่มทฤษฏีนี้จึงเห็นคุณค่าของความคิดริเริ่มและความเป็นอิสระทางความคิดของผู้เรียน ข้อตกลงเกี่ยวกับการเรียนรู้ตามแนวคิด Constructivist มีดังนี้
1)      ผู้เรียนสามารถสร้างความรู้ เมื่อทำกิจกรรมการเรียนรู้
2)      ผู้เรียนสามารถสร้างความรู้เกี่ยวกับสัญลักษณ์ หรือสร้างความหมาย เมื่อผู้เรียนปฏิบัติกิจกรรม
3)      ผู้เรียนสามารถสร้างความรู้เกี่ยวกับสังคม เมื่อต้องการนำความหมายที่ตนเองสร้างไปมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น
แกนอนและคอลเลย์ (Gagnon & Collay, 2001: 2) เสนอว่าการออกแบบการเรียนรู้ตามทฤษฏีConstructivist ประกอบด้วย 6 ส่วนสำคัญ คือ สถานการณ์ (Situation), การจัดกลุ่ม (Grouping), การเชื่อมโยง (Bridge), การซักถาม (Questions), กาจรัดแสดงผลงาน (Exhibit) และการสะท้อนความรู้สึกในการปฏิบัติงาน (Reflection) เมื่อกล่าวโดยสรุป คุณลักษณะของทฤษฎี Constructivist มีดังนี้
1)      ผู้เรียนสร้างความรู้ ความเข้าใจในสิ่งที่เรียนรู้ด้วยตนเอง
2)      การเรียนรู้สิ่งใหม่ขึ้นกับความรู้เดิมและความเข้าใจที่มีอยู่ปัจจุบัน
3)      การมีปฏิสัมพันธ์ต่อสังคมมีความสำคัญต่อการเรียนรู้
4)      การจัดสิ่งแวดล้อม กิจกรรมที่คล้ายคลึงกับชีวิตจริงทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย
            5. การกำหนดเวลาเรียนและจำนวนหน่วยกิต

   การจัดการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี สถานศึกษาต้องตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยเน้นให้ผู้เรียนมีทักษะในด้านการอ่าน การเขียน การคิดเลข การคิดวิเคราะห์ และการใช้คอมพิวเตอร์ บูรณาการการเรียนรู้ด้วยกลุ่มสาระต่างๆ เข้ากับหัวข้อเรื่องที่เรียนอย่างสมดุล ควรกำหนดจำนวนเวลาเรียนสำหรับสาระการเรียนรู้รายปี 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น