วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

8. ขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา การวิเคราะห์หลักสูตรมาตรฐานหลักสูตร ตัวชี้วัด สาระการเรียนรู้

การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา
ขั้นตอนในการพัฒนาหลักสูตรในระดับชาติหรือระดับสถานศึกษา จะเริ่มด้วยการกำหนดจุดหมายของหลักสูตร การกำหนดเนื้อหาสาระ การนำหลักสูตรไปใช้ การประเมินหลักสูตร และการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักสูตร โดยสามารถเปลี่ยนแปลงกิจกรรมเพื่อให้เหมาะสมกับธรรมชาติของหลักสูตรแต่ละระดับหรือแต่ละประเภท
            ทาบา (Taba, 1962) ให้ความเห็นว่าโรงเรียนควรเป็นผู้จัดทำหลักสูตรเอง โดยครูใน โรงเรียนตรงควรเป็นผู้จัดทำหลักสูตรเพราะเป็นผู้สอนโดยตรง กระบวนการพัฒนาหลักสูตรในระดับโรงเรียนแบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอน ดังนี้
1.       การผลิตหน่วยการเรียนการสอนหรือหลักสูตรเฉพาะรายวิชา การดำเนินการจะเป็นไปในลักษณะนำร่องกระบวนการจัดทำหลักสูตรในลักษณะหน่วยการเรียนหรือหลักสูตรเฉพาะรายวิชา มีกิจกรรมดำเนินการ 8 ประการ ดังนี้
1)      การวิเคราะห์ความต้องการของผู้เรียน สำรวจความต้องการของผู้เรียนเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำหลักสูตร โดยพิจารณาจากช่องว่าง จุดบกพร่องและพื้นฐานของผู้เรียน
2)      การกำหนดจุดหมาย ภายหลังจากได้วิเคราะห์ความต้องการของนักเรียนแล้ว ผู้วางแผนหลักสูตรจะช่วยกันกำหนดจุดหมายที่ต้องการ
3)      เลือกเนื้อหาสาระ โดยพิจารณาจุดหมายในการเลือกเนื้อหา,ความสอดคล้อง และความสำคัญของเนื้อหา
4)      การจัดลำดับเนื้อหา อาจจัดตามลำดับจากเนื้อหาที่ง่ายไปสู่เนื้อหาที่ยาก หรือตามลักษณะของเนื้อหาสาระที่ต้องการให้ผู้เรียนเรียนรู้  ควรจัดให้สอดรับกับวุฒิภาวะ ความพร้อมและระดับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน
5)      การเลือกประสบการณ์การ ให้นักเรียนทำความเข้าใจเนื้อหาผ่านกิจกรรมการเรียนรู้
6)      การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ กำหนดกิจกรรมการเรียนรู้และการจัดลำดับขั้นตอนของการใช้กิจกรรม
7)      การกำหนดสิ่งที่จะต้องประเมินและวิธีการในการประเมิน  เพื่อตรวจสอบว่าหลักสูตรบรรลุจุดหมายหรือไม่  โดยใช้เทคนิควิธีอย่างหลากหลายเพื่อใช้ให้เหมาะสมกับการวัดผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน 
8)      การตรวจสอบความสมดุลและลำดับขั้นตอน  ผู้จัดทำหลักสูตรจะต้องมุ่งเน้นที่การจัดทำหลักสูตรหรือหน่วยการเรียนการสอนให้คงเส้นคงวาและสอดคล้องภายในตัวหลักสูตรเอง การดำเนินการในลักษณะนี้ก็เพื่อให้ผู้เรียนเกิดประสบการณ์การเรียนรู้ที่เหมาะสมและเกิดความสมดุลในเนื้อหาและประเภทของการเรียนรู้
            2.  การนำหลักสูตรหรือหน่วยการเรียนไปทดลองใช้ มีการสังเกต วิเคราะห์และเก็บรวบรวมผลการใช้หลักสูตรและการจัดกิจการรมในชั้นเรียน เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการปรับปรุงหลักสูตรให้สมบูรณ์ขึ้นในโอกาสต่อไป
          3.  การปรับปรุงเนื้อหาในหลักสูตรให้สอดคล้องกัน โดยพิจารณาความสอดคล้องระหว่างความสามารถของผู้เรียนกับทรัพยากรที่โรงเรียนมีอยู่และกับพฤติกรรมการสอนของครู  มีการรวบรวมข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อจะใช้เป็นข้อสังเกตและแนวทางที่จะช่วยให้ครูได้จัดกิจกรรม การสอนอย่างรอบคอบ
          4.  การพัฒนากรอบงาน  ตรวจสอบหลักสูตรและสื่อในแต่ละหน่วยหรือแต่ละรายวิชาด้านเหมาะสมและความเพียงพอของขอบข่ายเนื้อหา และการจัดลำดับเนื้อหา  
          5.  การนำหลักสูตรไปใช้และเผยแพร่  เพื่อให้ครูได้นำนำหลักสูตรไปใช้จริงในระดับห้องเรียนอย่างได้ผล  
ในการจัดทำหลักสูตรในสถานการณ์จริงสามารถปรับปรุงกิจกรรมและขั้นตอนให้เหมาะสมกับเนื้อหาวิชา  สภาพท้องถิ่นและเงื่อนไขอื่น ๆ ได้ การสร้างหลักสูตรโดยคณะบุคคลในสถานศึกษามีผลดีคือสามารถตรวจสอบผลงานและปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องเหมาะสมได้ตลอดเวลา  เพราะมีนักเรียนที่ให้ความร่วมมือในการทดลองใช้ในทุกขั้นตอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น